วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2550

13703 ตัวอย่างการย่อ หน่วยที่ 1

หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการจัดเก็บและการค้นคืนสารสนเทศ
สารสนเทศ คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้ถูกบันทึก ประมวลผล และนำออกเผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อส่วนบุคคลและสังคม ก่อนนำออกเผยแพร่นั้นสถาบันบริการสารสนเทศ จะมีกระบวนการในการจัดเก็บสารสนเทศ (information storage) ซึ่งเป็นกระบวนการในการคัดเลือกสารสนเทศ ทั้งจากแหล่งภายใน และภายนอกสถาบันรนำมาวิเคราะห์จัดหมวดหมู่ควบคุมโครงสร้าง จัดทำสื่อการจัดเก็บไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงมนุษย์หรือด้วยเครื่องจักร สำหรับการค้นหาและค้นคืนสารสนเทศ (information retrieval) ซึ่งเป็นกระบวนการในการค้นสารสนเทศสำหรับผู้ใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้หรือระบุหรือดึงสารสนเทศเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้ใช้ออกมาจากที่จัดเก็บ เมื่อผู้ใช้ได้แหล่งสารสนเทศที่ต้องการขั้นตอนต่อไปคือ การถ่ายโอนสารสนเทศ (information transfer) หมายถึง การที่สารสนเทศที่ค้นพบ ได้รับการเปิดเผยหรือส่งต่อไปยังบุคคลอื่นที่ต้องการ
สถาบันบริการสารสนเทศมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นตัวกลางระหว่างทรัพยากรสารสนเทศและผู้ใช้ ซึ่งสถาบันฯ จำเป็นต้องมีการจัดหาและจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบสิ่งพิมพ์และอื่น ๆ จากแหล่งต่าง ๆ และต้องสอดคล้องตามนโยบายและเกณฑ์มาตรฐานในการจัดตั้งสถาบันฯ โดยมีการจัดหมวดหมู่และทำรายการ ตามหลักวิชาการจัดทำโครงสร้างระบบการจัดเก็บและควบคุมเพื่อการค้นหา ค้นคืน ในลักษณะบรรณานุกรม ไม่ว่าจะเป็นบัตรรายการหรือ OPAC ซึ่งสามารถให้สมาชิกใช้ประโยชน์ได้ทุกระดับ อีกทั้งยังมีการทำดรรชนี ทั้งในรูปแบบศัพท์ควบคุมและรูปแบบศัพท์อิสระ เพื่อเป็นเครื่องมือในการค้นหา ค้นคืนสารสนเทศสิ่งหนึ่งที่มักจัดทำร่วมกันกับดรรชนีคือสาระสังเขป เป็นตัวแทนของเนื้อหาสาระจากต้นฉบับ ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นของกระบวนการจัดหมวดหมู่และทำรายการนี้จะจบลงด้วยการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้บริการค้นคืนสารสนเทศ ตามขอบเขตหน้าที่และวัตถุประสงค์ของสถาบัน สำหรับบริการพื้นฐานก็จะมี บริการยืม-คืน บริการการอ่าน บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า ฯ นอกจากนี้ยังมีบริการส่งเสริมการใช้ เช่น บริการสารสนเทศทันสมัย บริการเลือกสรรสารสนเทศเฉพาะบุคคล ฯลฯ เป็นต้น การจัดเก็บและการค้นคืนสารสนเทศ เป็นงานหลักที่เชื่อมโยงระบบบริการต่าง ๆ และระบบงานของสถาบัน ในส่วนความสำคัญต่อผู้ใช้ อาจกล่าวได้ว่า การจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ ขจัดปัญหาต่าง ๆ ในการเข้าถึงสารสนเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภททั้งภายในและภายนอกสถาบัน มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึง เกิดความรวดเร็วในการเข้าถึงสารสนเทศตรงกับความต้องการเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้สารสนเทศในภารกิจต่าง ๆ ด้วยตนเอง
พัฒนาการของการจัดเก็บและการค้นค้นสารสนเทศ
ก่อนทศวรรษ 1960 การจัดเก็บและการค้นคืน เข้ามามีบทบาทตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกลงกระดาษ และเมื่อมีเครื่องพิมพ์ในศตวรรษที่ 15 ทำให้หนังสือมีจำนวนมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นความคิดและแนวทางการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศที่ผลิตออกมามากมาย จึงส่งผลให้เกิดความคิดในการควบคุมทางบรรณานุกรม ในระยะแรกนั้นใช้ประโยชน์ได้เฉพาะกลุ่ม บัตรรายการที่จัดทำไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ทันสมัย จนทำให้เกิดมาตรฐานในการจัดหมวดหมู่ขึ้นโดยวิเคราะห์เนื้อหา ระบบที่นิยมและรู้จักกันดีดือ DC และ LC และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการทำดรรชนีและสาระสังเขป ในยุคแรกนั้นเริ่มต้นในยุโรป จัดทำเพื่อใช้ในศาสนกิจ และพัฒนาไปศาสตร์อื่น ๆ จนในศตรวรรษที่ 20 จึงมีการสำรวจการบริการสาระสังเขปและดรรชนีของโลก มีการใช้เครื่องจักรในการให้บริการ และมาตรฐานในการจัดทำ เทคโนโลยีระยะแรกนั้น เริ่มจากการใช้เทคโนโลยีไมโครกราฟิกซึ่งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพย่อส่วนสารสนเทศจากต้นฉบับ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถอ่านได้ด้วยตาเปล่า และการค้นคืนสารสนเทศที่ต้องการบนไมโครฟอร์มให้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วด้วยเทคนิควิธีการต่าง ๆ สำหรับเทคโนโลยีในการค้นคืนสารสนเทศนั้นเริ่มต้นจากแนวคิดจากบทความของ ชื่อ “As we May Think” ซึ่งกล่าวถึงการใช้อุปกรณ์เมมเมกซ์ (Memex) ในการจัดเก็บและค้นคืนจนเกิดความพยายามวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศโดยคอมพิวเตอร์ ระบบแรกนั้นคือการทำดรรชนี KWIC-KWOC และต่อมาหอสมุดรัฐสภาอเมริกันได้เริ่มต้นสร้างระเบียนข้อมูล MARC โดยบรรจุรายละเอียดของบัตรรายการลงในแถบแม่เหล็ก
ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 NASA ต้องการใช้ข้อมูลจำนวนมากจึงให้เงินสนับสนุนการวิจัยที่สามารถนำมาใช้ในการจัดเก็บและค้นคืน และการวิจัยของกลุ่มวิจัยแครนฟิลด์เป็นการพัฒนาต้นแบบระบบค้นคืนอัตโนมัติ ในช่วงนี้มีการพัฒนากลุ่มความร่วมมือในการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เช่น OCLC, RLIN และช่วงทศวรรษนี้ ได้เริ่มมีบริการค้นคืนสารสนเทศเชิงพาณิชย์ และเริ่มมีการบริการออนไลน์ เช่น DIALOG, ORBIT และปลายทศวรรษ 1980 เทคโนโลยี ซีดี-รอมถูกใช้อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งทศวรรษ 1990 มีการใช้เทคโนโลยีเว็บซึ่งให้บริการบนอินเทอร์เน็ต เป็นแหล่งให้บริการค้นคืนที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงปัจจุบัน
คำถาม การจัดเก็บและการค้นคืนสารสนเทศ มีความสำคัญอย่างไร?

2 ความคิดเห็น:

zezami กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ บังเอิ๊ญบังเอิญเข้ามาอ่าน ว่าแต่ตัวอย่างการย่อหน่วยที่ 2ขึ้นไปไหนอ่ะคะ ไม่ได้จะลอกนะ แค่ดูเป็นแนวแนว คริ คริ
จาก น้องใหม่รุ่นประหยัดไฟ หุหุ

Unknown กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะพี่ Jimmy
is5 ค่ะ เจอผลงานพี่เรื่อยๆ ค่ะแต่ไม่ได้ติดต่อ ขอคำแนะนำในการเรียนสักที่ มาเจอตัวอย่างการย่อหน่วยที่ 1 ของพี่แล้วอึ้ง ตอนที่ทำงานตัวเองอยู่ (ย่อหน่วย 1 - 8) ก็เกิดคำถาม ความไม่แน่ใจใช่ไม่ใช่ เคยเจอคำแนะนำขอพี่ว่าจะต้องใช้วิจารณาญในการเรียนด้วยเลยไม่กล้าไปถามอาจารย์ บังเอิญไม่ค่อยชำนาญ IT และสำหรับตัวเองแล้วค่อนข้างช้าค่ะ คิดว่าค่อยๆ เรียนไป แต่ขอบคุณนะค่ะสำหรับแนวคิดในการเรียน และคำแนะนำต่างๆ น่าจะมีที่ติดต่อ ให้ติดตามคำแนะนำได้ดีกว่านี้